โรคปอดบวมในเด็ก

ปอดบวมในเด็กเล็ก

 

     การเสียชีวิตของน้องโฟร์โมสต์ วัย 1 ปี 8 เดือน ด้วยโรคปอดบวม ซึ่งผลชันสูตรพบว่า ปอดเต็มไปด้วยเชื้อไวรัส คงทำให้คุณพ่อคุณแม่หันมาให้ความสนใจและห่วงใยลูกน้อยมากขึ้น และไม่มองข้ามอันตรายของโรคปอดบวม

     พญ.สมฤดี ชัยวีระวัฒนะ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ บอกว่า สาเหตุของโรคปอดบวมส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งมีทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย แต่ในเด็กเล็กส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียมากที่สุด

     เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียในกลุ่มสเตปโตคอคคัส นิวโมเนียอี หรือ ที่รู้จักในชื่อของ "นิวโมคอคคัส" ปกติจะมีอยู่ในโพรงจมูก ลำคอ หรือบริเวณคอหอยของทุกคน แต่เนื่องจากร่างกายของเรามีภูมิต้านทานคอยป้องกันอยู่ จึงสามารถควบคุมเชื้อไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าร่างกายอ่อนแอลง เชื้อเหล่านี้ก็จะมีการแบ่งตัวมากขึ้น ร่างกายกำจัดเองไม่ไหว ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบอวัยวะต่างๆ

     อาการ ของโรคปอดบวมจะสัมพันธ์กับอายุของเด็กรวมถึงชนิดและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ และระดับภูมิต้านทานในตัวเด็ก ยิ่งเด็กเล็กมีภูมิต้านทานต่ำ อันตรายก็จะมีมากขึ้น และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ถ้าลูกน้อยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจเป็นอันตรายรุนแรงต่อตัวเด็ก โอกาสที่จะเสียชีวิตก็มีมากขึ้น

     ทั้งนี้พบว่าเชื้อกลุ่มสเตปโตคอคคัสนิวโมเนียอี เป็นสาเหตุของโรคปอดบวมในเด็กได้สูงถึงประมาณ 50% โดยเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อในเลือดหรือที่เยื่อหุ้มสมอง หรือที่เรียกว่าโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรงที่เรารู้จักกันในชื่อ โรคติดเชื้อไอพีดี

     โรคปอดบวมในเด็กเล็กโดยทั่วไปก็มีอันตรายมากอยู่แล้ว เพราะทำให้เกิดอาการได้ในหลายระบบ ยิ่งเป็นปอดบวมจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดลุกลามรุนแรง หรือโรคไอพีดี ก็ยิ่งอันตรายมาก เพราะปัจจุบันเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคไอพีดีส่วนใหญ่ จะมีอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาสูง การรักษาจึงยากขึ้น ทำให้เกิดการลุกลามได้รวดเร็ว มีอาการรุนแรงและมักมีอันตรายต่อชีวิตของเด็กมากกว่าปอดบวมจากเชื้อชนิดอื่น

     เด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดบวมนั้น ไม่ว่าจะเกิดจากเชื้อชนิดใด อาการที่แสดงออกส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างกัน คือ มักจะมีไข้ขึ้นสูง

     ถ้าเกิดจากกลุ่มของเชื้อไวรัสก็อาจมีน้ำมูก ตาแดง เสียงแหบร่วมด้วย ส่วนกลุ่มแบคทีเรียก็จะมีไข้ขึ้นสูง มีน้ำมูกได้เหมือนกัน และตามด้วยอาการไอ ไอมากขึ้น มีเสมหะ หายใจหอบ อีกอาการที่อาจพบได้ในเด็กเล็ก คือ เด็กจะไอมากจนอาเจียน และมีเสมหะมาก ทำให้ไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหารไม่ได้

     นอกจากนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ในเด็กรายที่มีอาการไข้ขึ้นสูงมากๆ อาจจะมีภาวะชักร่วมด้วย หรือในรายที่เด็กไอมากๆ หอบ จนดื่มนมและน้ำไม่ได้ ก็จะเกิดภาวะขาดน้ำ ขาดอาหารตามมา หรือเด็กบางคนไอมาก มีเสมหะหรือหอบจนหายใจไม่ไหว ก็อาจมีภาวะเขียว ขาดออกซิเจน โดยเฉพาะเด็กเล็กค่อนข้างดูอาการได้ลำบาก บอกความรู้สึกเองก็ไม่ได้ ดังนั้นเวลาเจ็บป่วยเด็กจะโยเย งอแง ปฏิเสธการกินมากกว่าปกติ

     ดังนั้นพ่อแม่ที่มีลูกน้อยควรดูแลสุขภาพเด็กให้ดี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กสุขภาพดีที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี และกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่า คือ เด็กที่พ่อแม่ต้องพาไปอยู่เนอร์สเซอรี่หรือสถานเลี้ยงเด็กกลางวัน เด็กที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคเลือด ม้ามทำงานไม่ดี หรือเด็กที่เป็นหวัดบ่อยๆ เป็นภูมิแพ้

     การเสริมภูมิคุ้มกันที่ดีสำหรับลูก น้อย คือ ให้ลูกน้อยได้กินนมแม่ได้นานที่สุด ไม่ควรให้เด็กเล็กอยู่ในที่แออัด ถ้าเป็นไปได้ก็อย่ารีบส่งลูกไปอยู่เนอร์สเซอรี่ หรือสถานเลี้ยงเด็กกลางวันเร็วเกินไป เพราะโอกาสติดเชื้ออาจมีมากขึ้น รวมถึงการดูแลเรื่องของอาหารให้ปรุงสุก สด สะอาด และให้ครบทั้ง 5 หมู่ สำหรับเด็กที่อยู่กับพี่เลี้ยง ก่อนที่จะรับพี่เลี้ยงเด็กก็ควรพิจารณาถึงสุขลักษณะ ความสะอาด และเช็กสุขภาพของพี่เลี้ยงด้วย

 

     ผลิตภัณฑ์แนะนำ

     ทรานสเฟอร์ แฟคเตอร์ ชูวเอเบิ้ล (เสริมภูมิคุ้มกันในเด็ก)

ปิดปรับปรุงระบบความคิดเห็นชั่วคราว ขออภัยในความไม่สะดวก หากลูกค้าต้องการเปิดใช้งานระบบ กรุณาติดต่อ 02-8323222 กด 2